ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรงดยาอะไรบ้าง?

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ผลข้างเคียงของวัคซีนแม้จะเกิดได้น้อยมากๆ ก็ตาม แต่ถ้าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด กลไกของผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด ที่สำคัญประการหนึ่ง (นอกจากการแพ้เฉียบพลัน) คือการจุดให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง และมีผลต่อเนื่อง ทำให้เส้นเลือดหดตัว และลิ่มเลือด และเป็นเหตุผลที่ต้องละเว้นยาที่มีผลทำให้เส้นเลือดหดตัวอยู่แล้ว 

สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค แนะนำยาที่ควรงดก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน ดังนี้

ยาแก้ปวดไมเกรน เช่น
- Cafergot, Avamigran, Tofago ควรงดยา 5 วัน ก่อนฉีดวัคซีน
- Triptan เช่น Relpax ควรงดยา 24 ชั่วโมง ก่อนฉีดวัคซีน

ยาต้านอาการซึมเศร้า เช่น 

- SSRI, SNRI, Tricyclic Antidepressants เช่น fluoxetine, sertraline, escitalopram, venlafaxine, duloxetine, amitriptyline, nortriptyline, imipramine ควรงดยา 24 ชั่วโมง ก่อนฉีดวัคซีน

ยาแก้หวัด คัดจมูก กลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้กระทบต่อเส้นเลือดและหัวใจ เช่น Pseudoephedrine ควรงดยา 24 ชั่วโมง ก่อนฉีดวัคซีน

ยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนเพศหญิง ควรงดยา 14 วัน ก่อนฉีดวัคซีน

คำแนะนำเพิ่มเติม

เฟซบุ๊กเพจ Drama-Addict นำข้อมูลจาก อ.อรวิน วัลลิภาก อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จากโรงพยาบาลรามาธิบดี และ อ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระบุว่า ยาคุมกำเนิดชนิดรวมแบบมีเอสโตรเจน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน 6-15 ราย ต่อหมื่นราย (สถิติจากอังกฤษ) ส่วนของไทย ความเสี่ยงน้อยกว่าของอังกฤษประมาณห้าเท่า (ก็ประมาณ หนึ่งรายต่อหมื่นราย) ส่วนยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA) ยาฝังคุมกำเนิด พวกนี้เป็นยาคุมแบบไม่มีเอสโตรเจน ความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจะน้อยกว่าแบบมีเอสโตรเจน ดังนั้นถ้าใช้ยาคุมกลุ่มที่ไม่มีเอสโตรเจน ความเสี่ยงจะน้อยกว่า

กลุ่มที่ใช้ยาคุมกลุ่มที่ความเสี่ยงน้อยอยู่แล้ว เพราะไม่มีเอสโตรเจน เช่น ยาคุมแบบฝัง ยาคุมแบบฉีด ห่วงคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน พวกนี้ไม่ต้องหยุด ใช้ต่อไปได้เลย เพราะความเสี่ยงลิ่มเลือดต่ำอยู่แล้ว ยาคุมกลุ่มนี้ไม่เพิ่มความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน

เฟซบุ๊กเพจ Drama-Addict แนะนำว่า ใครที่ถึงกำหนดฉีดวัคซีนแล้ว แต่หยุดยาคุมไม่ทัน ก่อนไปฉีด และหลังฉีดวัคซีน ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ประมาณวันละ 13 แก้ว (หรือราวๆ 3 ลิตร) และพยายามขยับตัวบ่อยๆ อย่านั่งนิ่งๆ นอนนิ่งๆ ทั้งวัน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลิ่มเลือดได้

ผู้ที่ใช้น้ำมันกัญชาอยู่แล้ว สามารถใช้ต่อได้ โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณ

ผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ สามารถทานยาได้ตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอสังเกตอาการในบริเวณสถานที่ฉีดอีก 30 นาที

ผู้ที่มีประวัติบาดเจ็บศีรษะ หรือเพิ่งเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับศีรษะ มาไม่ถึง 3 เดือน หรือมีโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ต้องให้แพทย์วินิจฉัยอาการก่อนฉีด ถ้าอาการยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมไม่ได้ ต้องเลื่อนออกไปก่อน

คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง ที่อาการไม่คงที่ หรือควบคุมอาการของโรคได้ไม่ดี ก็ให้พิจารณาเลื่อนฉีดวัคซีนออกไปก่อนด้วย

 

ขอขอบคุณข้อมูล :นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค,เฟซบุ๊กเพจ Drama-Addict,(2)